ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือ กายเจ็บ…แต่ ใจอย่าเจ็บ โดย ดร. วรภัทร ภู่เจริญ แล้วเกิดความประทับใจในสาระความรู้ จึงขอมาสรุปในแบบที่ผมเข้าใจครับ
กายเจ็บ…แต่อย่าให้ใจเจ็บ
เมื่อเกิดการเจ็บป่วยแล้ว ก็หาประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ คือ ได้มีเวลาว่างฝึกจิต ได้แบบฝึกหัดที่หายากเพื่อทดสอบจิต พัฒนาจิตของตนเอง คนป่วยรักษาทั้งกายใจ คนเฝ้าไข้ก็ต้องรักษาใจและกาย ด้วยเช่นกัน ใครคนใดคนหนึ่งเพลี่ยงพล้ำจิตตก ก็จะดึงอีกคนให้ตกด้วย ต้องเข้มแข็งไว้ มีสติตลอดเวลา
สอนให้เหมาะกับพื้นฐาน(ทางธรรม)
พื้นฐานทางธรรมเริ่มตั้งแต่ไม่รู้กฎแห่งกรรม จากนั้นก็ไปสู่ระดับศรัทธา, ทำบุญทำทาน, รักษาศีล, สุดท้ายจบที่ภาวนา ภาวนาที่ว่านี้ คือ พัฒนาจิต ชนะจิต ภาวนา ชนะจิต ทำให้จิตว่าง
จิต คือ อะไร
จิตเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่รู้สึกได้ว่าเขาเกิดอาการแล้ว โดยดูจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น ถ้าโกรธ บางคนกำมือ บางคนคิ้วขมวด บางคนหัวใจสั่น เลือดฉีดขึ้นหน้า ขมคอ แน่นหน้าอก คับแค้นใจ แล้วถ้าดีใจล่ะ บางคนก็กลางอกกลางใจพองโต หัวใจสั่นแต่ไม่คับแค้น ตัวเบา ๆ แขนขาเบา ๆ
ความคิด ที่เกิดตอนจิตเกิดเรียกว่า ความคิดขยะ เป็นความคิดที่ไม่พึงประสงค์ โดนจิตปรุงแต่งเข้าให้แล้ว เป็นความคิดที่ต้องหยุดต้องดับ คนเรายังไงก็ต้องคิด แต่ให้คิดตอนจิตสงบ ๆ เท่านั้น
จิต สติ ความคิด… สามตัวนี้ เป็นคนละตัวกัน
สติ คือ ตัวรู้ (แบบไม่ใช่ไปบังคับว่ารู้) รู้กายของเราว่าเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน หนัก เบา ร้อน หนาว รู้เวทนาว่าเป็นสุขหรือทุกข์หรือไม่เป็นอะไรทั้งนั้น รู้จิตตัวเองว่าจิตเกิดเป็นกุศลหรืออกุศลหรือาไม่ทั้งสองอย่าง รู้ว่าจิตอยู่สงบ ๆ
ความคิดมีสามแบบ
- ความคิดขยะ เกิดขึ้นตอนที่จิตเกิดอาการ ให้หยุดคิด ติดเบรกความคิดให้ทัน อย่าปล่อยให้ความคิดขยะไหลออกมา รีบสำรวจกาย พากย์อาการของของกายที่เกิดขึ้นให้ตนเองทราบไปตามอาการ เช่น อกเต้น ใจสั่น เลือดขึ้นหน้า แล้วตามดู ตามรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม จนกว่าจิตจะสงบ จึงจะเรียกว่าตั้งสติได้ หายใจลึก ๆ
- ความคิดจร คือ ความคิดที่เข้ามาจุดประกายให้จิตเขาเกิดอาการ เป็นตัวนำให้เกิดความคิดขยะ
- ความคิดตอนที่จิตว่าง เป็นความคิดที่มีคุณภาพ ปราศจากกิเลส เป็นเป้าหมายในการภาวนา
มือใหม่ควรดูความคิดขยะ ความคิดปรุงแต่งและดับมันให้ได้ จนคล่องก่อน จะเป็นพื้นฐานให้สามารถตามความคิดจรได้ทันและตัดมันไม่ได้เกิดผลได้ เหตุการณ์ที่เกิดการกระแทกอารมณ์ของเราอย่างแรง ๆ นี่แหละ คือ แบบฝึกหัดชั้นดีในการฝึกดูและดับ