in Mind

สรุปสิ่งที่ผมได้รับรู้จาก Workshop How to take care of yourself and others ~มาดูแลหัวใจ ให้เวลาชีวิต ด้วยจิตวิทยา~

(credit cover: เพจ Here to Heal https://www.facebook.com/Here-to-Heal-349851032751104  )
     
     ผมได้มีโอกาสได้เข้าร่วม Workshop How to take care of yourself and others ~มาดูแลหัวใจ ให้เวลาชีวิต ด้วยจิตวิทยา~ โดย อ. ดร. พนิตา เสือวรรณศรี อำนวยการจัดงานโดย สสส และ Here to Heal ซึ่งผมเล็งเห็นจุดที่น่าสนใจหลายจุด จึงขอสรุปตามที่ตัวเองรับรู้มาได้ประมาณนี้ครับ

     หมายเหตุ: ถ้ามีการถอดความผิดพลาดใด ผมขอน้อมรับความผิดพลาดจากการสื่อสารนี้แต่เพียงผู้เดียวครับ

การดูแลตัวเอง คืออะไร?

     การดูแลตัวเอง เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เราต้องการทำ อาจจะเป็นการกินอาหาร ขนมอร่อยๆ ที่เราชื่นชอบ ออกท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น

     กิจกรรมดังกล่าวนั้นมุ่งเน้นประเด็นหลักที่ตัวเราเอง และ จำเป็นต้องจัดสรรเวลาให้กับตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่การเอาเศษเวลาที่อาจจะมีบ้าง หรือไม่มีเลย หลังจากที่ทำเรื่องอื่นใดเพื่อสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากตัวเราไปแล้ว

การดูแลตัวเอง คือความสามารถของบุคคล ครอบครัว และชุมชน
ที่ทำให้ สุขภาพแข็งแรง ป้องกันโรค ดูแลและรับมือกับการเจ็บป่วยและความบกพร่องได้
ด้วยตัวเองหรือจำเป็นต้องมีระบบที่เกี่ยวกับสาธารณสุข มาส่งเสริมสนับสนุน

องค์การอนามัยโลก (WHO)

และการดูแลตัวเองนั้น

  • เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดในชีวิตประจำวัน ทุกวัน (ที่ไม่เบียดบังเวลานอนของตัวเอง เช่น นอนเร็วเพื่อตื่นเช้าขึ้นอีกนิด เพื่อเป็นเวลาที่ดีในการดูแลตัวเอง ก่อนออกไปทำงาน/ทำกิจวัตรต่างๆ)
  • ไม่ใช่เป็นเรื่องเห็นแก่ตัว เพราะ การดูแลตัวเองได้แข็งแรงก่อน จะสามารถดูแลคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ไม่ใช่การทำสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์ แต่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
  • ไม่ใช่การรอเวลาเพื่อไปพักยาวๆ หลังจากตรากตรำทำงานหนัก (เช่น ทำงานอย่างไม่ลืมหูลืมตามา 250 วันทำการแล้ว ขอพักร้อนยาวๆ 14 วันต่อเนื่องเพื่อดูแลตัวเอง)

การดูแลตัวเอง สำคัญอย่างไร?

  • ป้องกันอาการหมดไฟ และ ภาวะซึมเศร้า โดยการดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ อย่ารอจนทุกอย่าง (ความเครียด ความเหนื่อยล้า และความทุกข์) สะสมจนระเบิดออก แล้วค่อยไปเข้าพบจิตแพทย์
  • ดึงแรงจูงใจให้อยู่กับตัวเอง
  • เป็นการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย และสร้างสมดุลให้กับชีวิต
  • บำรุงดูแลความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ได้อย่างดี
  • สร้างความพร้อมให้กับตัวเอง ในการสนับสนุนช่วยเหลือผู้อื่น (เมื่อตัวเองแข็งแรงก่อนแล้ว การดูแลผู้อื่นก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานความสบายใจของเราเอง)

ความเครียด มีได้หรือไม่?

     เป็นความจริงอีกข้อหนึ่งที่ว่า เราไม่สามารถกำจัดความเครียดออกไปได้ทั้งหมด แล้วทำเหมือนว่ามันไม่มีอยู่จริง

    เรามีความเครียดได้ ในระดับที่เหมาะสม (การที่ไม่มีความเครียดเลย ส่งผลต่อประสิทธิภาพและความหมายของการลงมือทำว่า จะทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร และความเครียดที่มีมากเกินไป จะส่งผลต่อประสิทธิภาพเช่นกันจากความกลัวและตื่นตระหนก จนไม่ลงมือทำอะไร หรือ ทำไปด้วยความไม่มั่นใจ) ทำการหาจุดที่เหมาะสมนั้นที่เป็นสมดุลของแต่ละคน

สัญญาณที่บ่งบอกว่า จำเป็นต้องดูแลตัวเองแล้วนะ! (และควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการช่วยเหลือ)

     สัญญาณบ่งบอกดังกล่าว มีประมาณนี้

  • สภาวะอารมณ์ที่ไม่คงที่ มีความเหงาโดดเดียว ซึมเศร้า (โดยเทียบกับสถานการณ์ที่เผชิญหน้าอยู่ ตัวอย่างเช่น เมื่อพบความผิดหวัง ความรู้สึกเศร้าเสียใจสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะสมเหตุสมผลตามเหตุการณ์ แต่ถ้ามีการคิดอะไรที่ยกระดับมากขึ้น และอาจจะนำไปสู่ความรุนแรง นั่นคือไม่สมเหตุสมผลต่อเหตุการณ์ที่เผชิญหน้าแล้ว)
  • ความเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า ขาดการพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ
  • ไม่สามารถจดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้า หรือ เหตุการณ์ในสังคมที่เผชิญอยู่
  • มีความต้องการดื่มแอลกอฮอหรือใช้ยาเพื่อทำให้ตัวเองหลับ หรือ ทำให้ลืมภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกตินั้น
  • รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หาเหตุผลในการที่จะใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้
  • การไม่ได้เป็นตัวของตัวเองตามปกติที่ใช้ชีวิตอยู่

ดูแลตัวเองอย่างไร (มิติทางกายภาพ)

     ในมิติทางกายภาพนั้น สามารถทำการดูแลตัวเองได้ดังนี้

  • กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (เว้น เครื่องดื่มแอลกอฮอ)
  • นอนอย่างเพียงพอ (ใน Workshop มีการอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ การนอนงีบ (Nap) ยาว 10-20 นาที ในช่วงบ่ายของวัน เป็นการช่วยปรับอารมณ์ ลดความอ่อนล้าและความเครียดได้)
  • ออกกำลังกาย
  • ทำการตรวจสุขภาพเป็นประจำตามรอบ
  • นำพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ที่น่าอยู่ (หรือทำการสร้างขึ้นมาเองก็ได้ โดยการจัดบ้าน ทำความสะอาดบ้าน)

ดูแลตัวเองอย่างไร (มิติทางอารมณ์)

     ในมิติทางอารมณ์นั้น สามารถทำการดูแลตัวเองได้ดังนี้

  • รับรู้ว่า เรารู้สึกอะไรอยู่ และกำหนดความหมายของอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น (ตัวอย่างเช่น ฉันกำลังอิจฉา ฉันเสียใจอยู่)
  • อยู่กับปัจจุบันและฝึกฝนในการ
    • หาต้นตอที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้น
    • จากต้นตอดังกล่าว อะไรคือสิ่งที่ควบคุมได้ อะไรคือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
    • ทำการตัดสินใจและยอมรับผลที่ตามมา (ซึ่งการตัดสินใจนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้)
  • ตั้งขอบเขต และให้เวลากับตัวเอง
  • “ไม่เป็นไรนะ ที่เราจะไม่โอเคในบางครั้ง” และ “ไม่เป็นไรนะ ถ้ามันพลาด มันไม่สมบูรณ์แบบ”

ดูแลตัวเองอย่างไร (มิติทางจิตวิญญาณ)

     ในมิติทางจิตวิญญาณนั้น สามารถทำการดูแลตัวเองได้ดังนี้

  • หาความหมายของชีวิตว่า เราอยู่เพื่ออะไร ซึ่งสำหรับบางคน อาจจะไม่มีความหมายของการอยู่ที่ยิ่งใหญ่ชัดเจนเป็นแบบแผน (เช่น อยากมีบ้าน มีรถ มีครอบครัวที่อบอุ่น) แค่สำเร็จเล็กๆ ในสิ่งที่ต้องการแต่ละวัน แบบวันต่อวัน ก็ไม่ถือว่าผิดอะไร (ดังนั้นอย่าไปด่วนตัดสินชี้ผิดชี้ถูก)
  • ตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิตว่า
    • มัน Healthy หรือ Unhealthy อย่างไรต่อตัวเรา?
    • มันสร้างความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจของเราหรือไม่?
    • มันสร้างความสงสัยในคุณค่าของตัวเองหรือไม่?
    • มันทำให้รู้สึกถูกตัดขาดจากตัวตนที่แท้จริงของเราหรือไม่?
  • เชื่อในความรู้สึก (Gut Feeling) ของตัวเอง
  • และรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราจำเป็นต้องหาความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น
    • เมื่อเราไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นเหตุชั่วคราว ที่จะจบลงในเร็วๆ นี้
    • เมื่อเราต้องตัดสินใจในประเด็นที่สำคัญ (เพื่อเลี่ยงการด่วนตัดสินใจด้วยอารมณ์)
    • เมื่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นสูง

การเมตตาต่อตัวเอง (Self-Compassion)

      ตามปกติที่เราถูกสอนให้เมตตาต่อคนอื่นแล้ว การใจดีกับตัวเอง กลับมารักตัวเอง ก็เป็นสิ่งสำคัญ ใน Workshop นี้แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมต่อที่ https://self-compassion.org

      สำหรับผมเอง กิจกรรมที่น่าสนใจมากๆ ของ workshop นี้ คือการเขียนจดหมายถึงตัวเอง (ใช้เวลาประมาณ 10 นาที) โดยสถานการณ์คือ ถ้ามีเพื่อนคนนึงที่หวังดีและรักเรามากๆ เขียนจดหมายถึงเรา เขาจะเขียนจดหมายว่าอย่างไร ทำการลองเขียนดูจริงๆ ด้วยตัวเอง

การดูแลคนอื่น

     ใจความสำคัญคือ การเป็นผู้ฟังที่ดี โดย

  • เปิดใจ อย่าถาม(ที่อาจจะหนักข้อขั้นไปเป็นแกมบังคับ)เพื่อให้คู่สนทนาแบ่งปันเรื่องราว ถ้าเขายังไม่พร้อม
  • การถามของเรา ทำเพื่อสำรวจสิ่งที่เขาคิด และอารมณ์ที่เขารู้สึกอยู่
  • เราสามารถถามได้ในประเด็นที่ เขามีแนวโน้มต้องการจบชีวิตของตัวเองหรือไม่ (ตัวอย่างชุดคำถามคือ เธอเคยคิดว่าไม่อยากอยู่แล้วมั้ย? / เธอเคยคิดว่าวันนี้นอนไปแล้ว ไม่อยากตื่นขึ้นมาอีกไหม?) และ ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ย้ำประเด็น เพื่อเป็นการตรวจสอบแต่เนิ่นๆ และนำพาไปหาจิตแพทย์ได้ทันท่วงที

ผลกระทบจากการดูแลคนอื่น

     ในการที่เราดูแลผู้อื่นมากเกินไป ก็ส่งผลกระทบต่อตัวเราเองได้เช่นกันคือ ความรู้สึกหนัก จากการแบกรับเรื่องราวของคนอื่น จนเกิดการล้าไม่อยากรับฟังอะไรจากใครแล้ว
     ดังนั้น เราควรรู้ขีดจำกัดของตัวเอง และคิดเสมอว่า เราไม่ได้เป็นที่พึ่งเดียวของใคร และมองหาการช่วยเหลือจากทางอื่นจากที่กล่าวไว้ในข้อก่อนหน้านี้

Write a Comment

Comment