(credit cover: ทีมงานกิจกรรมสวนโมกข์กรุงเทพ https://www.facebook.com/activitiessuanmokkhbkk/ )
ผมได้มีโอกาสได้รับชม session เส้นทางสู่เซน ~จิตสงบ ขบปัญญา พิจารณาธรรม~ โดย พระสุธีรัตนบัณฑิต, ดร. วรภัทร ภู่เจริญ และ นพ. บัญชา พงษ์พานิช ดำเนินรายกายโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล อำนวยการจัดงานโดย หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กรุงเทพ โดยมีประเด็นหลักคือการขยายความจากหนังสือ เส้นทางสู่เซน และมุมมองเพิ่มเติมจากวิทยากรที่เข้าร่วม ซึ่งผมเล็งเห็นจุดที่น่าสนใจหลายจุด จึงขอสรุปตามที่ตัวเองรับรู้มาได้ประมาณนี้ครับ
หมายเหตุ: เนื่องจากเนื้อหาต่อจากนี้ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ ระเบียบวิธีที่ปฏิบัติในบริบทหนึ่งๆ ถ้ามีการถอดความผิดพลาดใด ผมขอน้อมรับความผิดพลาดจากการสื่อสารนี้นี้แต่เพียงผู้เดียวครับ
หนังสือ เส้นทางสู่เซน ประพันธ์โดยพระสุธีรัตนบัณฑิต บอกเล่าประสบการณ์ของท่านเองในการศึกษาวิถีเซนที่ประเทศญี่ปุ่นครับ
“มือ ไม้ จิต เป็นหนึ่งเดียว” (การอยู่กับปัจจุบันขณะ) คือ แก่นคำสอนแรกที่ท่านพระอาจารย์สุธีได้เรียนรู้ จากหลวงพ่อโยริโน และ “พระจันทร์ บนผืนน้ำ” (ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง ธรรมชาติ ไม่มีเขา ไม่มีเรา) เป็นอีกแก่นคำสอนที่น่าสนใจเช่นกัน
Zen คือ กระบวณการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ที่มีพื้นฐานการรับรู้ด้วย ใจ จึงทำการอธิบายสิ่งที่เป็นไปนี้ผ่านช่องทางอื่นได้ยากมาก เช่น อ่านมากมายอย่างไรก็ไม่เข้าถึงใจ, ฟังคลิปบทสวด บทเทศนามากมายอย่างไร ก็ไม่เข้าถึงใจ เนื่องจากติดข้อจำกัดที่ชื่อว่า ติดคิด
ครูบาอาจารย์ทั้งหลายจึงเลือกที่จะให้ฝึกฝนผ่านทางฐานกาย เช่น ยิงธนู ตีดาบไม้เคนโด เพื่อตัดคิด สัมผัสสภาวะของใจว่า นี่คือใจว่าง ติดตัวเป็นประสบการณ์ของผู้ฝึกเอง ต่างจากสภาวะโลกตามปกติ ที่ใจกระเพื่อม(เพราะความคิดไปป่วน)
“จิตสงบ (Zazen) ขบปัญญา (Sanzen) พิจารณาธรรม (Mondu)” เป็นลำดับขั้นของรายละเอียดของการเรียนรู้ จากรายละเอียดน้อยไปหารายละเอียดมาก โดยแต่ละลำดับขั้นนั้นจำเป็นต้องมีสภาวะใจว่าง เกิดการเรียนรู้ผ่านใจสู่ใจ
ถ้า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมกันเป็นวงกลม (นึกถึงภาพวงกลมของ Zen ที่โดยทั่วไปเรียกว่า Enso) มันควรจะเริ่มด้วยปัญญา ใคร่ครวญอย่างมีสมาธิ(อย่างต่อเนื่อง) จึงทำให้เกิดศีลได้ ถ้าไม่มีปัญญาเป็นฐานแล้ว การรักษาศีลก็จะยากขึ้น แต่ทั้งนี้ จะเริ่มจากจุดใดในวงกลมนี้ก็สามารถทำได้ แต่ความยากง่าย ประสบการณ์ที่ได้รับ จะแตกต่างกันออกไป
วิถีการเข้าถึงจุดหมาย(นิพพาน ความว่าง) ในวิถีแบบ Zen นั้นเรียบง่ายกว่า วิถีในนิกายอื่นๆ เพราะพิจารณาธรรมชาติ ณ ขณะนี้ ตอนนี้ เดี๋ยวนี้
หากกลับมามองในมิติสังคมโลกนั้น เราต้องแยกแยก สิ่งที่ควบคุมได้ กับ สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ควบคุมได้ ก็ลงมือทำไปตามความเหมาะสม ที่อาจจะใช้เวลาให้เกิดดอกออกผล เร็วบ้าง ช้าบ้าง ส่วนสิ่งที่ควบคุมไม่ได้นั้น ก็วางอุเบกขา(ที่ใจ) ประเด็นที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งคือ การละวางความเกลียดชังระหว่างกัน เพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนเราทุกคน มีความเป็นคนเหมือนกัน อยู่ในวงเดียวกัน (Oneness) ควรเข้าอกเข้าใจต่อกัน (Empathy) ซึ่งสอดคล้องกับแก่นคำสอนสองข้อที่พระอาจารย์สุธีได้เรียนรู้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น